ในโลกลูกหนังอันยาวนาน ย่อมมีเรื่องราวของ นักเตะในตำแหน่งจอมทัพของทีมในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น นักเตะที่มีเทคนิคสูงส่ง ขยัน มุ่งมั่น ทุ่มเท หรือ นักเตะในแบบที่เกรี้ยวกราด ทรงพลัง ในบทบาทผู้นำแบบนักรบ
สเตฟาน เอฟเฟ่นแบร์ก เกิดที่ เมืองฮัมบูร์ก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1968 เริ่มต้นเล่นฟุตบอลในระดับเยาวชนกับ ทีมบาร์มเฟลเดอร์ เอสวี ก่อนจะย้ายไปร่วมทีม วิคตอเรีย ฮัมบูร์ก และได้เข้าสู่ทีมเยาวชนของ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ในปี 1986/87 ก่อนก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้สำเร็จ
จากดาวรุ่งสู่ตัวหลักของ สิงห์หนุ่ม ค้าแข้งอยู่กับ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค 3 ปี ลงเล่น 70 นัด และยิงไป 10 ประตู และหลังจากนั้น เสือใต้ บาเยิร์น มิวนิค ก็ดึงตัวเขาไปร่วมทีม
ในปี 1990 ซึ่งปีที่เขาได้ย้ายมาสู่ บาเยิร์น มิวนิค เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “โลธาร์ มัทเธอุส กัปตันทีมชาติอินทรีเหล็ก เป็นพวกใจเสาะ” เพราะในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกในปี 1990 เมื่อทีมได้ลูกจุดโทษ แทนที่ มัทเธอุส จะเป็นคนสังหาร กลับให้ อันเดรียส เบรห์เม่ แบ็คซ๊ายของทีมเป็นคนยิง และนั่นก็เป็นรอยร้าวของสองคนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
กับ บาเยิร์น มิวนิค ในช่วงเวลา 2 ฤดูกาล เอฟเฟ่นแบร์ก ลงเล่นไป 65 นัด ยิงได้ 19 ประตู ซึ่งเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม ทำให้เขาก้าวไปติดทีมชาติเยอรมัน ช่วงรอบคัดเลือกยูโร 92
ในศึกยูโร 92 เขาเป็นกำลังสำคัญของ ทีมอินทรีเหล็ก แม้ท้ายที่สุดแล้ว แชมป์จะตกเป็นของทีมชาติเดนมาร์ก แต่ เอฟเฟ่นแบร์ก ก็ติดทีมยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ เช่นเดียว กับ ไบรอัน เลาดรู๊ป เพื่อนร่วม "ทีมเสือใต้" ที่พาโคนมคว้าแชมป์ไปครองแบบพลิกความคาดหมาย
แต่เมื่อจบศึกยูโร 92 บาเยิร์น มิวนิค ก็ได้ดึงตัว “ซุปเปอร์แมน” โลธาร์ มัทเธอุส กลับมาสู่ทีมอีกครั้ง ทำให้ เอฟเฟ่นแบร์ก ได้เลือกย้ายออกไปหาความท้าทายใน กัลโช่ เซเรีย อา กับ “ม่วงมหากาฬ” ฟิออเรนติน่า พร้อมกับ ไบรอัน เลาดรู๊ป
การมาถึงของสองดาวดังแห่งศึกยูโร ร่วมกับ ดาวยิงอย่าง กาเบรียล บาติสตูต้า ทำให้ ทีมม่วงมหากาฬ ดูมีอนาคตที่สดใส แต่ถึงแม้ว่า บาติโกล์ จะยิงไปถึง 16 ประตู ส่วน เอฟเฟ่นแบร์ก และ เลาดรู๊ป ก็ยิงไปอีกคนละ 5 ประตู แต่ทว่าเมื่อการแข่งขันตลอดฤดูกาลจบลง ทีมกลับจบในอันดับที่ 16 และนั่นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทีมอยู่รอด จึงส่งผลให้ทีมตกชั้นในทันที
เขาตัดสินใจอยู่กับ ฟิออเรนติน่า ต่อ แม้ต้องลงเล่นในระดับ เซเรีย บี ด้วยความหวังที่จะพาทีมกลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดให้ได้ภายในฤดูกาลเดียว
ซึ่งเมื่อจบฤดูกาลนั้น เอฟเฟ่นแบร์ก ยิงไป 7 ประตู บาติสตูต้า 16 ประตู พาทีมคว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย บี และ ฟิออเรนติน่า ก็ได้กลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง และเมื่อถึง ฟุตบอลโลก 1994 ทีมชาติเยอรมัน เดินทางมาในฐานะแชมป์เก่า หลังจากลงแข่งในรอบแบ่งกลุ่มไปสองนัด โดยมี 4 คะแนน
และในนัดสุดท้ายต้องเจอกับ ทีมชาติเกาหลีใต้ ทีมออกนำไปก่อนถึง 3-0 ก่อนโดน เกาหลีใต้ ไล่ตามมา 3-2 แฟนบอลเยอรมันโห่ทีมตัวเองอย่างหนัก เอฟเฟ่นแบร์ก ตอบโต้ทันควันด้วยการ ชูนิ้วกลาง ใส่แฟนบอลนิสัยเสียกลุ่มดังกล่าว
ส่งผลให้ แบร์ตี้ โฟล์ก กุนซือทีมชาติเยอรมัน ในเวลานั้น ก็ได้สั่งให้เขากลับบ้านในทันที เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยทำแบบนี้มาก่อนแล้วเมื่อครั้ง ยูโร 92 และหลังจากนั้น เขาก็กลายเป็นเส้นขนานของ ทีมชาติเยอรมัน แม้ช่วงปี 1998 จะกลับมาติดทีมเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม
ในปี 1994/95 เอฟเฟ่นแบร์ก กลับมาเล่นให้กับทีมสิงห์หนุ่มอีกครั้ง ซึ่งการคืนสู่เหย้าในครั้งนี้ เขากลับมาพร้อมกับฉายา “ขบถลูกหนัง” แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ เขาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างมุ่งมั่น ห้าวหาญ ผาดโผน และ เกรี้ยวกราด ตามสไตล์
ซึ่งดูจะตรงกันข้ามกับการครองบอลที่นุ่มนวลสวยงาม การจ่ายบอลสั้นและยาวแบบเท้าชั่งทอง และนั่นก็ทำให้บุคลิกผู้นำที่สง่าผ่าเผยของเขากลับมาเจิดจรัสขึ้นอีกครั้ง
ช่วงเวลา 4 ปี ในนาม สิงห์หนุ่ม เขาลงสนาม 118 นัด ยิงไป 23 ประตู ก้าวขึ้นมาเป็น นักเตะระดับ เวิล์ดคลาส อย่างแท้จริง
บาเยิร์น มิวนิค ทาบทาม เอฟเฟ่นแบร์ก อีกครั้งในวัย 30 ปี และเพื่อเติมเต็มความฝันของตัวเขาเอง เขาก็หวังว่าประสบการณ์ของเขา จะช่วยพาให้ทีมกลับมาลุ้นแชมป์ถ้วยใหญ่ของยุโรปได้อีกครั้ง
ซึ่งเพียงปีแรก ตัวเขาก็พาทีมคว้า แชมป์บุนเดสลีกา ได้ในทันที และต่อเติมความฝันด้วย รอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 1999
โดยเป็นการพบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ สนามคัมป์นู และเพียงแค่ 6 นาที มาริโอ บาสเลอร์ ก็ยิงให้ บาเยิร์น มิวนิค ขึ้นนำอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าก่อนจบเกมทีม "ปีศาจแดง" ก็ใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาที ในการยิงตีเสมอและพลิกขึ้นนำ คว้าแชมป์ไปครองอย่างยากที่ยอมรับความจริงได้
เหล่านักเตะเสือใต้ร่ำไห้ เหมือนหัวใจแตกสลาย เอฟเฟ่นแบร์ก หน้าแดงก่ำ อารมณ์ยามนั้นเหมือนโลกทั้งใบได้ถล่มลงมาตรงหน้า
แต่การศึกของ เอฟเฟ่นแบร์ก ยังไม่จบ เขายังสู้ต่อไป โดยรับบทบาท กัปตันทีมคนใหม่ แทนที่ของ มัทเธอุส
บาเยิร์น มิวนิค ในการนำของ เอฟเฟ่นแบร์ก คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 3 สมัยติดต่อกัน และในฤดูกาล 2000/2001 โอกาสก้าวขึ้นมาเป็นจ้าวยุโรปก็ได้เดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง
คราวนี้ เอฟเฟนแบร์ก ยิงจุดโทษ ทั้งในเกมและหลังจากหมดเวลาการแข่งขัน พาทีมเสือใต้เอาชนะสโมสรบาเลนเซีย ครองแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้สำเร็จ หลังจากหัวใจสลายไปเมื่อ 2 ปีก่อน
เอฟเฟ่นแบร์ก ลงเล่นกับ "ทีมเสือใต้" ต่อไปอีกหนึ่งฤดูกาล ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับ โวล์ฟบวร์ก และ ไปโกยเงินในตะวันออกกลางกับ สโมสรอัล อราบี ก่อนจะแขวนสตั๊ดไป
และข่าวฉาวเกี่ยวกับการเป็นชู้กับ คลอเดีย ภรรยาของเพื่อนร่วม ทีมบาเยิร์น มิวนิค อย่าง โธมัส สตรุนซ์ ที่ตัวเขาก็ไม่เคยออกมาตีหน้าใสซื่อขอโทษต่อหน้าสื่อมวลชน แต่กลับเลือกที่จะเปิดตัวคู่รักคนใหม่มันซะเลย โดยที่ทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจหย่าขาดกับคนเก่าของตนเพื่อคบกันเป็นเรื่องเป็นราว
เขาเลือกที่จะปกป้องคนรักและยึดอกยอมรับมันซะดื้อๆ อย่างนั้น ด้วยการประกาศว่า ตัวเขาเองนั่นแหละที่เป็นคนเลว แต่ที่ทำไปเพราะหัวใจมันเรียกร้อง
แต่บางทีโลกก็อาจต้องการคนจริงแบบนี้บ้าง คนที่กล้าบอกทุกอย่างทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ซึ่งในมุมที่ดีเราควรเลือกเอาเป็นตัวอย่าง แต่ในมุมที่ร้ายก็ขอให้เราดูไว้เป็นบทเรียน
และทั้งหมดนั่น ก็คือตัวตนของคนอย่าง เอฟเฟ่นแบร์ก คนที่ยอมหักไม่ยอมงอ คิดเห็นสิ่งใดก็พูดมันออกมาอย่างนั้น
เมื่อเขาพาทีมที่ตัวเองเล่นอยู่พลาดตกชั้นลงไป เขาก็พาทีมกลับเลื่อนชั้นขึ้นมา เมื่อคนในชาติโห่ใส่ว่าเขาเล่นไม่เต็มที่ เขาก็เลิกเล่นมันซะเลย จนกลายเป็น "ขบถ" ต่อคนทั้งเผ่าพันธุ์ เขาพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวดในนาทีสุดท้ายต่อ ทีมปีศาจแดง แต่ด้วยจิตใจไม่เคยยอมแพ้ และแม้ต้องใช้เวลา เขาก็ต่อสู้จนได้รางวัลแห่งความสำเร็จนั้นมาครอง
เขาอาจจะเหมือน “นักรบ” และบางมุมเขาก็อาจเหมือน “นักเลง”
แต่บางมุมเราได้เห็นความเป็น “จิตรกร” ในสนามฟุตบอลอันงามสง่า
และจากเรื่องราวของเขา เขาอาจเป็นเสมือนตัวร้ายในวงการลูกหนัง
แต่หัวใจอันแสนทระนงและเด็ดเดี่ยว นั่นช่างน่านับถือยิ่งนัก
“จอมห้าวหัวเสือ” สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก