ศาสตราจารย์ลูกหนัง กับ ภารกิจกู้วิกฤตศรัทธา ณ โรงละครแห่งความฝัน

สถานการณ์ในยามนี้ ที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ช่างร้อนระอุ ไม่ต่างจากเปลวไฟ บรรลัยกัลป์ ในขุมนรก ปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บนโลกแห่งความจริง วันนี้อุณหภูมิเดือดพล่านไม่แพ้กัน 

นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง จากกุนซือผู้เคยเป็นตำนานเมื่อครั้งยังค้าแข้ง แต่ผลงานเมื่อกลับมากุมบังเหียนไม่สามารถสร้างความสุขสมให้กับสาวกปีศาจแดง ชื่อของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ จึงกลายเป็นอดีต 

ปัจจุบัน คือ ราล์ฟ รังนิค กุนซือมากประสบการณ์ ที่ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ตัวที่ร้อนที่สุดตัวนึงในโลกลูกหนัง พร้อมด้วยความหวังและความกดดันจากทั่วสารทิศ คำถามว่าเขาเป็นใคร ดังก้องในความคิดของผู้ติดตามความเคลื่อนไหวฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เราไปส่องเรื่องราวในอดีตของเขากันซักนิด

ราล์ฟ รังนิค เมื่อสมัยเป็นนักเตะได้ลงเล่นไปเพียง 66 นัด กับ ทีม เฟเอฟอาร์ เฮลบรอนน์ ในลีกระดับสามของเยอรมัน แต่ตัวเขาเองก็ได้เรียนรู้ว่าใจตัวเอง รักในเส้นทางในการคุมทีมมากกว่า ชอบคิด วิเคราะห์ เริ่มเข้าเรียนศาสตร์ฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์  ในประเทศอังกฤษ ทำให้เขาเป็นคนนึงที่พูดอังกฤษได้คล่องกว่าคนเยอรมันทั่วไป

หลังจบมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ เขากลับมาเล่นฟุตบอลอาชีพในทีมระดับท้องถิ่นเยอรมัน ด้วยวัยเพียง 25 ปี ก็ได้รับโอกาสได้คุมทีม อูล์ม และสามารถพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกา 2 เยอรมันได้สำเร็จ ด้วยหลักสูตรการซ้อมที่เขาคิดค้นขึ้นเอง ผสมผสานกับความรู้ที่ร่ำเรียนมา ในช่วงเวลานั้นเขาก็ยังคุมทีมเล็กๆอีกหลายสโมสร


ด้วยความชื่นชอบในศาสตร์แห่งการคุมทัพ เขาศึกษาแผนการเล่นต่างๆมากมาย ทั้งด้วยตัวเองและการไปเรียนรู้จากทีมต่างๆในสมัยนั้น โดยทีมเก่งๆในยุคนั้น ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ อย่าง

ดินาโม เคียฟ ที่มีกุนซือ ยอดคนยูเครน วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ คุมทัพ โดยมี โอเล็ก บล็อกกิ้น หัวหอกชื่อดังชาวยูเครน และจอมทัพฝีเท้าคลาสสิค อย่าง อเล็กไซ มิไคลิเชนโก้ เป็นแกนหลักของทีมในยุค 80 จนถึงยุคของ อันเดร เชฟเชนโก้ และ เซอร์เก เรบรอฟ ด้วยวิธีการเล่นเกมรุกรวดเร็ว ไล่บีบพื้นที่ดุดันทันทีเมื่อเสียบอลให้คู่แข่ง การได้เจอกับทีมเคียฟนี่เองที่ทำให้ รังนิก ยอมรับว่า โลกของเค้าในศาสตร์ฟุตบอลนั้นแคบนัก

เอซี มิลาน ในยุคของ อาร์ริโก้ ซ้าคคี่ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ รังนิก ยึดถือเป็นต้นแบบในการทำทีมฟุตบอล เขาได้มีการปฏิวัติรูปแบบการฝึกซ้อมโดยใช้การคุมโซนและเพรสซิ่งสูง ซึ่งต้องใช้พละกำลังมากมาย แต่ก็แลกมาด้วยระบบการเล่นที่แปลกใหม่ และยากต่อการรับมือในยุคนั้น บอลของมิลานในยุค ซาคคี่ ทำลายเกมรับแบบ คาเตนัชโซ่ คือเกมรับในแบบที่เรียกง่ายๆในสมัยนั้นว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” คือยิงประตูแล้วตั้งเกมรับอย่างหนาแน่นจนทำให้ทีมเก็บชัยชนะ เป็นการเริ่มต้นฟุตบอลสมัยใหม่อย่างแท้จริง


รูปแบบการทำทีมของ ราล์ฟ รังนิก จึงเป็นฟุตบอลในรูปแบบใหม่ ที่บอลในลีกเยอรมันไม่เคยมี เนื่องจากบอลเยอรมัน ได้รับอิทธิพลการทำทีมตามยุคที่ได้รับความสำเร็จ ในแบบฉบับของ ฟรานซ์ เบคเค่นเบาวเออร์ ส่งต่อ แบรนด์ ชูสเตอร์ จนกระทั่ง มัทธีอัส ซามเมอร์ รวมกว่าสี่ทศวรรษ เริ่มต้นตั้งแต่ยุค 70 จนถึงยุคก่อน 2000 

ครั้งหนึ่งเมื่อ รายการฟุตบอลทางทีวี ได้เชิญ รังนิก มาร่วมรายการ แล้วได้พูดถึงในกรณีนี้ พิธีกรดำเนินรายการได้บอกว่า ฟุตบอลในแบบฉบับของอินทรีเหล็กนั้น ต้องเล่นด้วยระบบหลังสามเท่านั้น ไม่สามารถเล่น หลังสี่ แบบที่เรียกกันว่า Back Four ได้ เพราะนักเตะจะไม่สามารถเข้าใจ ราล์ฟ รังนิก สวนขึ้นมาทันทีเลยว่า ทำไมเราถึงเล่นหลังสี่ไม่ได้ เด็กๆของพวกเรา (เด็กเยอรมัน) ฉลาดน้อยกว่า เด็กชาติอื่นๆอย่าง สเปน เบลเยี่ยม หรือ ฝรั่งเศส รึไง 

จบประโยคนี้ เขาก็พรั่งพรู ระบบการเล่นที่เขาคิดค้นขึ้นมาอย่างมากมาย จนกระทั่งได้รับฉายาว่า “The Professor” หรือ “ศาสตราจารย์” แต่เป็นการให้ฉายาในแบบ ล้อเลียนมากกว่า ว่า ราล์ฟ รังนิก คือคนที่มีความคิดหลุดโลกไปแล้ว ยิ่งจะมาเปลี่ยนระบบ ที่เคยใช้และประสพความสำเร็จมาเป็นอย่างดี เขากล้าดีอย่างไรถึงมาบอกว่าฟุตบอลที่เยอรมันใช้มาตลอดมันเก่าเกินไปแล้ว เขากลายเป็น ตัวประหลาดสำหรับ ผู้คนในวงการฟุตบอลในยุคนั้น ดังนั้นคำว่า เดอะ โปรเฟสเซอร์ ที่สื่อมวลชนตั้งให้ จึงมีความหมายว่า ศาสตราจารย์สติเฟื่องเสียมากกว่า 

ยิ่งหากพูดถึงเกียรติยศและความสำเร็จ มันก็แทบจะบอกได้ว่าเขาเป็นอีกหนึ่งกุนซือที่ได้รางวัลน้อยมากคนนึง จะมีเพียงแชมป์อินเตอร์โตโต้ กับ สตุ๊ตการ์ท และ เดเอฟเบ โพคาล กับ ชาลเก้04 เท่านั้นที่เป็นชิ้นเป็นอันแบบจับต้องได้


แต่เขาคือผู้สร้างและผู้วางรากฐานให้กับทีมต่างๆ มากมายด้วยระบบการเล่นที่ ผสมผสาน สร้างเกมบุกที่รวดเร็ว เมื่อเสียบอลในแดนคู่ต่อสู้ก็บีบแย่งคืนเร็ว High Pressing ตั้งแต่แดนหน้า แทนที่จะกลับไปคุมโซนเหมือนในระบบดั้งเดิม 

อีกสิ่งสำคัญในการคุมทีมในแต่ละสโมสรที่เขาทำงาน คือการที่ตัวเขาต้องได้รับอำนาจในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในทุกขั้นตอนทั้งการจัดระบบการเล่น รวมไปถึงเรื่องราวในตลาดซื้อขาย เพราะเขาไม่ต้องการให้ผู้บริหารมาแทรกแซงการจัดการทีมเช่นการซื้อนักเตะที่เขาไม่ต้องการเข้ามาสู่ทีม

ดังนั้นทีมส่วนใหญ่ที่เขาเข้ารับงานคุมจึงเป็นทีมเล็กๆ ที่จัดการได้โดยไม่ถูกก้าวก่ายจาก เจ้าของสโมสร อย่างการพาทีม ฮันโนเวอร์ 96 เลื่อนชั้นมาสู่บุนเดสลีกาเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี

คุมทีม ทีเอสจี 1899 ฮอฟเฟนไฮม์ เลื่อนชั้นจากลีกระดับ 3 ขึ้นสู่ลีกระดับ 2 และ ขึ้นสู่ บุนเดสลีกา ในระยะเวลาสามปีติดต่อกัน แต่แล้วเขาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อสโมสรขาย ลุยส์ กุสตาโว นักเตะคนสำคัญไปให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ผิดสัญญากับเขาในเรื่องที่จะไม่แทรกแซงการซื้อขายตัวผู้เล่น ให้กับทีมอื่น


นอกจากการรับบทบาทผู้จัดการทีมแล้ว ราล์ฟ รังนิก ยังรับหน้าที่ผู้อำนวยการกีฬาให้กับทีมในเครือเร้ดบูลส์ กับทีม ซัลบวร์ก ในออสเตรีย ก่อนจะกลับมาเป็นผู้จัดการทีมอีกคำรบกับ แอร์เบ ไลป์ซิก และก็เป็นเขาที่วางรากฐานให้กับ ทีมกระทิงแดง แห่ง เยอรมัน ขึ้นมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งมาจนปัจจุบันนี้

จะเห็นได้ชัดเจนว่า ราล์ฟ รังนิก เป็นผู้สร้างรากฐานให้ทีมต่างๆอย่างแท้จริง แต่ทว่าแต่ละทีมที่เขาคุมนั้นก็มันจะเป็นเพียงทีมเล็กๆ จะใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็มี สตุ๊ตการ์ท และ ชาลเก้04 

ความแตกต่างจากวันที่เคยคุมที่เล็กๆอย่าง ฮอฟเฟนไฮม์ ที่เป็นทีมระดับหมู่บ้าน สู่ทีมที่ใหญ่ระดับโลกอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมที่ขึ้นชื่อว่า แทรกแซงการทำงานของผู้จัดการทีม มากที่สุดทีมนึง เมื่อวันที่มีข่าวว่า ปีศาจแดง เลือก ราล์ฟ รังนิก มาเป็นผู้จัดการทีม เขาก็ขอตั้งข้อแม้ระบุในสัญญาว่าหลังจากหมดสัญญาคุมทีมชั่วคราวเมื่อจบฤดูกาล ก็จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาให้แก่สโมสรต่อไปอีกสองปี 

เท่ากับว่าเขาไม่เพียงจะเข้ามาเป็นเพียงกุนซือคนคั่นเวลาเท่านั้น เขายังมีแผนการที่จะวางรากฐานใหม่ให้กับทีมที่กำลังผุพัง ยับเยินอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เวลานี้


แต่ทว่าเมื่อการทำงานของเขากับปีศาจแดงเริ่มต้นขึ้นจริง กลับมีเพียงนัดแรกนัดเดียวเท่านั้น ที่คนดูสามารถมองเห็นถึงแรงกระเพื่อมที่เขาสร้างมันขึ้นกับทีม นักเตะแต่ละคนวิ่งกันอย่างแข็งขัน ประหนึ่งว่าโชว์พละกำลังและความมุ่งมั่นให้นายคนใหม่ได้ชมเสียหน่อย 

นัดแรกออกสตาร์ต ด้วยการนำทีมชนะ คริสตัล พาเลซ 1-0 เริ่มเห็นแสงสว่างให้กับความหวังของสาวกปีศาจ เฟร็ด เปลี่ยนสถานะจากนักเตะ ประเภท แพะรับบาป สถาปนาตัวเองเป็น นักเตะคนแรกที่ยิงประตูให้ทีมในยุคของ ราล์ฟ รังนิก 

ต่อด้วย ชนะ นอริช ซิตี้ 1-0 ในนัดนี้แม้จะเก็บสามแต้มได้ แต่ก็เป็นอีกนัดที่ชนะเพียงประตูเดียว แถมประตูโทนในนัดนี้ก็มาจากลูกจุดโทษของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และหากผู้รักษาประตูจอมหนึบอย่าง เด เกอา ไม่โชว์ฟอร์มเซฟระดับ “มึงรับได้ยังไงวะ” อยู่หลายครั้ง ชัยชนะอาจไม่ตกเป็น ปีศาจแดงก็เป็นได้

และในนัดที่สามที่พบกับสาลิกาดง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เกมนี้แม้จะได้มาหนึ่งคะแนน จากการเสมอ 1-1 แต่การเสมอทีมท้ายตาราง ในรูปแบบที่ทีมเกือบจะแพ้ เริ่มกลายเป็นคำถามว่า ทีมไปในทิศทางที่ดีแล้วจริงๆหรือไม่ เพราะเกมรุกของนิวคาสเซิลจริงๆแล้วมีทีเด็ดเพียง แซงต์ แมกซิแมง ที่เล่นจนหมดแรง ถูกเปลี่ยนตัวออกไปก่อน มิเช่นนั้น แม้เพียงแต้มเดียวก็อาจจะเก็บไม่ได้ด้วยซ้ำ

ชัยชนะเหนือ เบิร์นลีย์ 3-1 เป็นอีกนัดที่ทีมเหมือนจะกลับมาดีอีกครั้ง เมื่อหลายจังหวะที่เกมในแดนกลางสามารถคุมเกมได้อย่างอยู่หมัด สก๊อต แมคโทมิเนย์ โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม รวมไปถึงประตูเบิกร่องให้ทีมเล่นต่อไปได้ง่ายจนสามารถเก็บสามแต้ม


จนกระทั่งเกมล่าสุด แพ้ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส 0-1 คาโรงละครแห่งความฝัน ที่ในนัดนี้ น่าจะเป็นฝันร้าย เมื่อมันเป็นความพ่ายแพ้ต่อ ไอ้หมาป่าในบ้านเป็นครั้งแรกในรอบ 42 ปี รูปเกมที่สู้ไม่ได้ตั้งแต่ในครึ่งแรก จวบจนครึ่งหลังก็ยังเล่นแบบไร้ทรง สิ้นสุดเกมนี้ แฟนบอลตั้งคำถามคำโตว่า ราล์ฟ รังนิก จะใช่คนที่มากอบกู้จริงๆ หรือ

แฟนบอลส่วนใหญ่คาดหวังจะเห็น เกเก้น เพรสซิ่ง ของ คนที่ถูกเรียกว่า ศาสตราจารย์ ทั้งๆที่เขาเพิ่งคุมทีมได้ 5 นัด กับการเก็บแต้มไป 10 คะแนน ในบอลลีก ก็คงไม่ได้แย่นัก หากเทียบกับการคุมทีมของผู้จัดการทีมอื่น แต่ที่นี่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ โอลด์ แทรฟฟอร์ด  

มันเร็วไปไหมหากจะมองหาความสำเร็จ ในระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่เดือนเศษๆ กับ ผู้จัดการที่ไม่เคยทำงานในพรีเมียร์ลีก ไม่ใช่บุนเดสลีกา แม้หลายคนจะบอกว่า เจอร์เก้น คล็อปป์ กับ โธมัส ทูเคิ่ล ยังทำสำเร็จมาแล้


หากเรามองย้อนไปในสิ่งที่ ราล์ฟ รังนิก ทำมาตลอด เค้าไม่ใช่กุนซือที่ทำทีมให้สำเร็จได้เพียงเวลาเดือนเดียว แต่เค้าก็ไม่เคยทำให้ผิดหวัง หากมีเวลาเพียงพอ ให้ต่อเลโก้ระบบทีมไปในทางที่ถูกที่ควร 

เขามาเพื่อทำทีมไปสู่อนาคต นั่นคือ ความจริงที่เราไม่ควรปฏิเสธ การรับงานครึ่งฤดูกาล ต่อด้วย การเป็นที่ปรึกษา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังจากนี้สองปี คือความจริงที่ทีมต้องเดินหน้าต่อไป เขาเข้ามาคุมทีมเพื่อมองให้เห็นถึงแก่นแท้ของปัญหา ก่อนที่จะนำไปแก้ไขให้ถูกจุด เมื่อวันที่เขาก้าวไปเป็นที่ปรึกษาหลังจากหมดสัญญาการคุมทีมชั่วคราวนี้ต่างหาก คือ สิ่งที่เราควรยอมรับ

นักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชั่วโมงนี้ แทบไม่เหลือ ดีเอ็นเอ นักสู้สมัยที่เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสันยังคุมทัพ เวลาไม่หมด นักเตะไม่เคยยอมแพ้ เหลือเพียงความทรงจำให้แฟนบอลรุ่นเก่าเฝ้าแต่คิดถึง

หากค้นเรื่องราวในอดีตของ ราล์ฟ รังนิก เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่า นักเตะหลายคนที่ โลดแล่นในโลกลูกหนังในวันนี้ ล้วนถูกปลุกปั้นมาจากเขามากมาย 

  • การให้โอกาส มานูเอล นอยเออร์ สู่ทีมชุดใหญ่กับชาลเก้ 
  • เดวิด อลาบา กับ เฟอร์มิโน่ ที่ฮอฟเฟนไฮมส์ 
  • โจชัว คิมมิค ที่ถูกดึงมาจนเป็นกำลังสำคัญกับ แอร์เบ ไลป์ซิก
  • ซาดิโอ มาเน่ ปีกดาวรุ่งที่ถูกดึงมาจากลีกเอิง ก็เป็นเพราะสายตาอันเฉียบแหลมของ รังนิก นี่เอง
  • และจอมถล่มประตูดาวรุ่งชาวนอร์เวย์ เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์ ก็เป็นหนึ่งในผลงานการบริหารของ ราล์ฟ รังนิก อีกเช่นกันที่ทำให้โลกได้รู้จักกับซุปเปอร์สตาร์คนล่าสุดในวันนี้ 

ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันดีกว่า ว่า ศาสตราจารย์สติเฟื่องคนนี้ จะสามารถมองเห็นปัญหาและมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เขาจะเป็นกุนซือที่ ยึดมั่น หรือ ยืดหยุ่น แค่ไหนในการจัดการกับ รอยแผลใหญ่ ที่มันเรื้อรังมาตั้งแต่หมดยุคอันเรืองรอง ของพลพรรคปีศาจ

สิ่งปลูกสร้างใด ที่ยิ่งใหญ่ระดับสถาปัตยกรรม

ล้วนมีคำเปรียบเทียบว่า ไม่เคยสร้างเสร็จในวันเดียว 

การกู้ซากปรักหักพัง นั้นยากยิ่งกว่าหลายเท่านัก 

ในฐานะผู้เฝ้าชม เราคงทำได้เพียง

รอดูความเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้น กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ในมือของ "The Professor"

ศาสตราจารย์ลูกหนัง ราล์ฟ รังนิก

เว็บไซต์ ZumRoad ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว